เหตุผลที่ เกลเซอร์ ไม่เคยได้รับความรักจากแฟนผี

นับตั้งแต่ ตระกูลเกลเซอร์ เข้ามาเทคโอเวอร์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพวกเขานำพาความสัมพันธ์เชิงลบของแฟนบอลส่วนใหญ่มาสู่สโมสร และนี่คือเหตุผลหลัก ที่ Bleacher Report มองว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้พวกเขาเดินเป็นเส้นขนานกับสาวก ปีศาจแดง เสมอ
– มองข้ามผลงานในสนาม
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เผยผ่าน Riviera Radio ว่า ผมคิดว่าตระกูลเกลเซอร์สนับสนุนสโมสรได้ดีมาก พวกเขาไม่เคยขัดขวาง พร้อมที่จะตอบสนองต่อสิ่งที่เราต้องการ แน่นอนว่าด้วยบารมีของ เฟอร์กี้ กุนซือผู้สร้างประวัติศาสตร์มากมายในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด และได้รับการยกย่องในฐานะปูชนียบุคคลของวงการลูกหนัง ตระกูลเกลเซอร์ทราบดีว่าการทำตัวเป็นศัตรู คือหนทางที่จะพาไปสู่ความพ่ายแพ้ ดังนั้น การปล่อยให้ เฟอร์กี้ ยังคงถืออำนาจสิทธิ์ขาดในการดูแลทีม จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลตอบแทนที่ได้กลับมา คือการคว้าแชมป์ลีก 5 สมัย ช่วงระหว่างปี 2006-2013 อย่างไรก็ตาม หลัง เฟอร์กี้ อำลาตำแหน่งไป ตระกูลเกลเซอร์ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมในฐานะเจ้าของสโมสร พวกเขาใช้ตัวเลขเชิงธุรกิจขับเคลื่อนสโมสร โดยปล่อยให้ผลงานในสนามเป็นเรื่องรอง จาก เดวิด มอยส์, โจเซ่ มูรินโญ่, หลุยส์ ฟาน ฮัล จนถึง โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ เราไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าสโมสรกำลังมีอนาคตที่ดีรออยู่ เรื่องดังกล่าววนลูปต่อเนื่องไม่รู้จบ จนเริ่มสงสัยแล้วว่าเป้าหมายในการลงสนามของ ยูไนเต็ด คืออะไร ขณะเดียวกัน ตระกูลเกลเซอร์ ยังพยายามแทรกแซงด้วยการแต่งตั้ง เอ็ด วู้ดเวิร์ด เข้ามาควบคุมการซื้อขาย ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นเหมือนเล่นขายของ ก่อนจะต้องลดแรงเสียดทานและมอบอำนาจให้ โอเล่ เต็มที่ จากผลพวงกระแสต่อต้านการเข้าร่วมซูเปอร์ลีก

– เน้นผลประโยชน์นอกสนาม
ยูไนเต็ด ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ลูกหนังที่มีมูลค่าสูงที่สุด เรื่องดังกล่าวทำให้ในแต่ละปีสโมสรมีรายได้มากมายจากสปอนเซอร์ แถมตัวเลขยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกฤดูกาล ซึ่งอาจจะบอกว่าเป็นความสำเร็จของ ตระกูลเกลเซอร์ ก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเรื่องดังกล่าวจะสวนทางกับผลงานในสนามของ “ปีศาจแดง” เพราะแม้พวกเขาจะมีรายได้มากมายนอกสนาม แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพทีมอย่างเต็มประสิทธิภาพ นับตั้งแต่ซัมเมอร์ 2013 ที่ มอยส์ เข้ามารับตำแหน่งต่อจาก เฟอร์กี้ พวกเขาลงทุนเสริมทัพค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบกับเงินที่ได้รับจากการปล่อยตัวนักเตะ แต่ส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่แข้งเป้าหมายที่ผู้เป็นกุนซือต้องการ ผลกระทบที่ตามมาคือผลงานในสนามที่ขาดความสม่ำเสมอ ต้องจ่ายเงินไปกับการสร้างทีมใหม่อย่างต่อเนื่องในแทบทุกปี เช่นเดียวกับยุคปัจจุบันในมือของ โอเล่ ที่ใครหลายคนบอกว่าต้องอาศัยเวลา แต่เวลาที่ว่าจะมีประโยชน์อย่างที่คิดจริงหรือเปล่า เมื่อแข้งใหม่ที่ย้ายเข้ามาต้องรับภาระแบกแข้งเก่าชนิดที่ห้ามป่วยห้ามลาห้ามมาสาย บางทีรายงานข่าวที่ระบุออกมาอาจเป็นเรื่องจริง ว่าเหตุผลในการตัดสินใจมอบโอกาสให้ โอเล่ ทำหน้าที่ต่อไป อย่างน้อยก็อีก 1+2 เกม ความจริงแล้วเป็นเพราะ ตระกูลเกลเซอร์ ไม่ต้องการจ่ายค่าชดเชย 7.5 ล้านปอนด์ ซึ่งยังไม่นับรวมค่าชดเชยของทีมสตาฟฟ์โค้ช ที่น่าจะต้องเก็บข้าวของตามกันออกไปด้วย

– ใช้สโมสรรองรับความเสี่ยงการลงทุน
จุดเริ่มต้นในการเข้ามาเทคโอเวอร์ยูไนเต็ดของ ตระกูลเกลเซอร์ คือการลงทุนผ่านบริษัทเรดฟุตบอล เพื่อซื้อกิจการสโมสรด้วยเงินกู้ยืมประมาณ 790 ล้านปอนด์ พร้อมถอดกิจการออกจากตลาดหลักทรัพย์ ทำให้สโมสรที่ไม่มีหนี้ ติดหนี้แดงทันที 790 ล้านปอนด์ สำหรับมุมมองด้านธุรกิจ อาจเป็นความคิดที่ชาญฉลาด เพราะไม่ต่างจากการจับเสือมือเปล่า พวกเขาไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าแม้แต่บาทเดียว แถมด้วยยี่ห้อยูไนเต็ด ยังไงก็คุ้มทุนสำหรับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต แอนดี้ กรีน เคยเขียนเอาไว้เมื่อปี 2013 ว่า ตระกูลเกลเซอร์วัดดวงครั้งใหญ่ด้วยการเทคโอเวอร์ยูไนเต็ด พวกเขาคิดว่าสโมสรสามารถชำระหนี้สินได้ในเวลาแค่ไม่กี่ปี แต่พวกเขาคิดผิด โชคดีเหลือเกินที่ความอัจฉริยะของ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทำให้พวกเขาไม่ต้องเผชิญวิกฤติทางการเงิน เช่นเดียวกับการปล่อยตัว คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ให้เรอัล มาดริด ท้ายที่สุด ตระกูลเกลเซอร์ กลายเป็นฝ่ายที่ได้รับการชูมือเยี่ยงผู้ชนะ เมื่อ ยูไนเต็ด มีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านปอนด์ ในปี 2018 และทำกำไรไปมากถึง 590 ล้านปอนด์ สูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสร แต่ในปี 2019 เรากลับพบว่าหนี้สโมสรยังเหลืออยู่ถึง 400 ล้านปอนด์ เรื่องดังกล่าวสะท้อนความหมายที่แท้จริงซึ่งแอบซ่อนอยู่ได้เป็นอย่างดี ว่าพวกเขามอง ยูไนเต็ด เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของธุรกิจครอบครัว ไม่ได้มองว่ามันคือจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของชาว ปีศาจแดง

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ >> ข่าวฟุตบอล